Riga, Treaty of; Peace of Riga (1921; -)

สนธิสัญญารีกา; สนธิสัญญาสันติภาพรีกา (พ.ศ.๒๔๖๔; -)

สนธิสัญญารีกาหรือที่เรียกกันว่าสนธิสัญญาสันติภาพรีกาเป็นสนธิสัญญาที่ลงนามระหว่างโปแลนด์กับสหภาพโซเวียต เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ ณ กรุงรีกา (Riga) เมืองหลวงของสาธารณรัฐลัตเวีย (Latvia) สนธิสัญญาฉบับนี้ยุติสงครามรัสเซีย-โปแลนด์ (Russo-Polish War ค.ศ. ๑๙๑๙-๑๙๒๑)* และนำไปสู่การกำหนดแนวพรมแดนร่วมกันทางด้านตะวันออกของทั้ง ๒ ประเทศ โปแลนด์ได้รับดินแดนบางส่วนของเบโลรัสเซีย (Belorussia) หรือเบลารุส (Belarus) แคว้นกาลิเซีย (Galicia)* และอัปเปอร์ไซลีเซีย (Upper Silesia) สหภาพโซเวียตยังคงได้ครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ของโปแลนด์ซึ่งได้มาเมื่อมีการแบ่งแยกโปแลนด์ใน ค.ศ. ๑๗๗๒ และ ค.ศ. ๑๗๙๓ สนธิสัญญารีกายังทำให้ความเป็นพันธมิตรระหว่างโปแลนด์ กับยูเครน (Ukraine) สิ้นสุดลงเพราะโปแลนด์เข้าครอบครองยูเครนตะวันออกหรือแคว้นกาลิเซียซึ่งทำให้ซีมอน เปตลูย์รา (Symon Petlyura)* ผู้นำชาตินิยมยูเครนเห็นว่าโปแลนด์เป็นฝ่ายทรยศ สนธิสัญญารีกาล้มเลิกลงโดยปริยายเมื่อเยอรมนีกับสหภาพโซเวียตลงนามเป็นพันธมิตรกันในกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างนาซี-โซเวียต (Nazi-Soviet Nonaggression Pact)* หรือกติกาสัญญาริบเบนทรอพ-โมโลตอฟ (Ribbentrov-Molotov Pact)* เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ ต่อมาเยอรมนีก็บุกโปแลนด์เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ ซึ่งนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)*

 การลงนามทำสนธิสัญญารีกาเป็นผลสืบเนื่องจากสงครามรัสเซีย-โปแลนด์และสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๑)* โปแลนด์ขัดแย้งกับสหภาพโซเวียตเกี่ยวกับปัญหาแนวพรมแดนเคอร์เซิน (Curzon line)* ซึ่งประเทศมหาอำนาจตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษสนับสนุนให้เป็นแนวพรมแดนระหว่างโปแลนด์กับสหภาพโซเวียต สหภาพโซเวียตยอมรับแนวพรมแดนดังกล่าวเพราะตรงกับข้อเรียกร้องในแง่เชื้อชาติมากที่สุดแต่โปแลนด์ต่อต้านและนำไปสู่สงครามรัสเซีย-โปแลนด์ในช่วงเวลาเดียวกัน กองทัพรัสเซียขาวซึ่งมีนายพลอันตอน อีวาโนวิช เดนีกิน (Anton Ivanovich Denikin)* เป็นผู้บังคับบัญชากำลังมีชัยชนะเหนือกองทัพแดง (Red Army)* อย่างต่อเนื่องในการรบทางรัสเซียตอนใต้รัฐบาลพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ซึ่งมีวลาดิมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* เป็นผู้นำจึงระดมกำลังทัพส่วนใหญ่เพื่อตั้งรับการรบรุกของฝ่ายรัสเซียขาว โปแลนด์ในระยะแรกดำเนินนโยบายเป็นกลางในสงครามกลางเมืองรัสเซียที่เกิดขึ้น แต่ชัยชนะของฝ่ายรัสเซียขาวได้สร้างความวิตกแก่ยูเซฟ ปิลซุดสกี (Józef Pilsudski)* ผู้นำขบวนการชาตินิยมโปแลนด์เพราะเดนีกินมีนโยบายสงครามที่จะสร้างรัสเซียที่เป็นหนึ่งเดียวที่แบ่งแยกไม่ได้ และการคืนอำนาจทางการเมืองให้แก่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (Constituent Assembly) ซึ่งถูกพรรคบอลเชวิคยุบในต้น ค.ศ. ๑๙๑๘ นโยบายดังกล่าวมีผลกระทบต่อความมั่นคงของโปแลนด์ซึ่งเพิ่งได้รับการจัดตั้งเป็นประเทศเอกราชหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)*

 ในกลาง ค.ศ. ๑๙๑๙ ปิลซุดสกีได้เปิดการเจรจาลับกับรัฐบาลโซเวียตโดยเสนอเงื่อนไขว่าโปแลนด์จะไม่สนับสนุนฝ่ายรัสเซียขาวซึ่งกำลังเคลื่อนกำลังมุ่งหน้าสู่กรุงมอสโกแต่รัฐบาลโซเวียตต้องยอมรับเส้นแนวพรมแดนที่โปแลนด์กำหนดขึ้นใหม่โดยเริ่มจากเมืองวิลนา (Vilna) ในโปแลนด์จนถึงกรุงมินสค์ (Minsk) และเมืองลวอฟ (Lvov) ในเบโลรัสเซียและลิทัวเนีย (Lithuania) ทั้งไม่โฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองในกองทัพโปล สหภาพโซเวียตยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวซึ่งมีผลให้กองทัพของเดนีกินซึ่งบุกยึดเมืองโอเรล (Orel) ได้และอยู่ห่างจากกรุงมอสโกเพียง ๔๐๐ กิโลเมตรถูกปิลซุดสกีปฏิเสธที่จะส่งกำลังมาร่วมรบด้วยในเวลาต่อมากองทัพเดนีกินจึงล้มเหลวที่จะบุกยึดกรุงมอสโก

 ในช่วงเวลาที่กองทัพแดงกำลังติดพันการต่อสู้กับกองกำลังฝ่ายรัสเซียขาว ปิลชุดสกีซึ่งต้องการสร้างความมั่นคงให้กับโปแลนด์ได้ทำสนธิสัญญาลับกับซีมอนเปตลูย์ราผู้นำชาตินิยมยูเครนสนับสนุนให้ยูเครนตะวันออกหรือแคว้นกาลิเซียแยกตัวเป็นเอกราชจากสหภาพโซเวียตเพื่อจัดตั้งเป็นสาธารณรัฐประชาชนยูเครน (Ukraine People’s Republic) ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๙ กองทัพโปลยูเครนจึงบุกโจมตียูเครนตะวันตกหรือโซเวียตยูเครน (Soviet Ukraine) ซึ่งสนับสนุนรัฐบาลโซเวียตในบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่นํ้านีเปอร์ (Dnieper) การบุกดังกล่าวได้นำไปสู่สงครามรัสเซีย-โปแลนด์หรือที่เรียกกันว่า สงครามโปแลนด์-บอลเชวิค (Polish-Bolshevik War)* ขึ้น ในระยะแรกกองทัพโปลมีชัยชนะอย่างรวดเร็วและสามารถยึดเบโลรัสเซียและกรุงเคียฟ (Kiev) ได้ตามลำดับ แต่เมื่อกองทัพแดงสามารถสกัดกั้นการบุกของฝ่ายเดนีกินไว้ได้ก็ระดมกำลังเข้าปลดปล่อยกรุงเคียฟ และรุกคืบหน้ามุ่งสู่กรุงวอร์ซอ (Warsaw) จนยึดเมืองเบียลีสตอค (Bialystock) ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านก่อนเข้าสู่กรุงวอร์ซอได้ในปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เยอรมนีกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองภายในสืบเนื่องจากกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายเคลื่อนไหวต่อต้านสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* ซึ่งนำไปสู่การชุมนุมและการจลาจลขึ้นทั่วไป สหภาพโซเวียตคาดหวังว่าคนงานเยอรมันจะก่อการปฏิวัติขึ้นตามแบบการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ หากการบุกโปแลนด์มีชัยชนะก็จะหนุนช่วยการก่อการปฏิวัติในเยอรมนีและจุดชนวนการปฏิวัติโลกขึ้นสหภาพโซเวียตจึงโหมกำลังส่วนใหญ่เข้าโจมตีกรุงวอร์ซอโดยให้เปิดแนวรบทั้งทางด้านเหนือและด้านใต้

 อย่างไรก็ตาม กองทัพโปลพยายามตั้งรับและต้านการบุกของกองทัพแดงไว้ได้ทั้งเริ่มรุกตีโต้จนกองทัพแดงพ่ายแพ้บริเวณฝั่งแม่น้ำวิสตูลา (Vistula) ในยุทธการที่วอร์ซอ (Battle of Warsaw)* เดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ กองทัพโปลกลับเข้ายึดครองพื้นที่ยูเครนตะวันตกได้อีกครั้งหนึ่งและจับเชลยศึกชาวโซเวียตได้กว่า ๖๐,๐๐๐ คน ชัยชนะของโปแลนด์ในยุทธการที่วอร์ซอหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ความมหัศจรรย์แห่งวิสตูลา” (Miracle of Vistula) ทำให้สหภาพโซเวียตขอเปิดการเจรจาสงบศึกการเจรจาสันติภาพเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ที่กรุงมินสค์ เมืองหลวงของเบโลรัสเซีย และหยุดชะงักไปช่วงเวลาหนึ่งเพราะโปแลนด์กำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบในสงคราม การเจรจารอบสองมีขึ้นที่กรุงรีกาโดยสหภาพโซเวียตขอเปิดการเจรจาและยื่นเงื่อนไขให้โปแลนด์พิจารณารวม ๒ ครั้ง คือ เมื่อวันที่ ๒๑ และ ๒๘ กันยายน โปแลนด์ ตอบรับการเจรจาและส่งเงื่อนไขที่เรียกร้องให้ฝ่ายโซเวียตพิจารณาเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม สหภาพโซเวียตพิจารณาต่อรองและส่งข้อตกลงที่ปรับแก้ให้โปแลนด์พิจารณาเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ซึ่งโปแลนด์ยอมรับ ทั้ง ๒ ฝ่ายจึงลงนามสัญญาสงบศึก (Armistice)* เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑๘ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ และนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญารีกาเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ หัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาฝ่ายโปแลนด์คือ ยาน ดาบสกี (Jan Dabski) และฝ่ายโซเวียตคือ อดอล์ฟ จอฟฟ์ (Adolph Joffe)

 สาระสำคัญของสนธิสัญญารีกาสรุปได้คือ โปแลนด์ ได้ขยายดินแดนไปทางตะวันออกตามแนวพรมแดนเคอร์เซินโดยได้ครอบครองแคว้นกาลิเซีย เบโลรัสเซียตะวันตก และอัปเปอร์ไซลีเซียรวมเป็นเนื้อที่ทั้งหมด ๑๐๓,๖๐๐ ตารางกิโลเมตร แต่ต้องยอมให้สหภาพโซเวียตได้ครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ที่เคยสูญเสียในการแบ่งโปแลนด์ครั้งที่ ๑ (ค.ศ. ๑๗๗๒) และครั้งที่ ๒ (ค.ศ. ๑๗๙๓) ซึ่งมีชาวโปลเกือบ ๑ ล้านคนอาศัยอยู่ ส่วนสหภาพโซเวียตได้เบโลรัสเซียตะวันออกซึ่งทำให้มีการจัดตั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตเบโลรัสเซีย (Belorussia Soviet Socialist Republic) ขึ้นโดยมีเนื้อที่ประมาณ ๖๐,๐๐๐ กิโลเมตร แต่ต้องส่งทรัพย์สินและงานศิลปวัตถุที่มีค่าทั้งหมดที่ยึดไปตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๗๒ คืนโปแลนด์ เช่น ห้องสมุดซาลูสกี (Zaluski Library) รวมทั้งเงินชดเชยจำนวน ๓๐ ล้านรูเบิล ทั้ง ๒ ประเทศจะไม่เรียกร้องค่าปฏิกรรมสงครามจากกันและกัน เส้นทางการติดต่อโดยตรงระหว่างสหภาพโซเวียตกับลิทัวเนียหรือเส้นทางผ่านลิทัวเนียไปเยอรมนีถูกตัดขาด

 สนธิสัญญารีกาทำให้เบลารุสซึ่งประกาศตนเป็นเอกราชช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ถูกแบ่งแยกเป็น ๒ ส่วนระหว่างโปแลนด์กับสหภาพโซเวียตและนำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านของประชาชนเบลารุสจนกลายเป็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศที่องค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)* ไม่สามารถแก้ไขได้ สนธิสัญญาดังกล่าวยังทำให้ความเป็นพันธมิตรระหว่างโปแลนด์ กับยูเครนสิ้นสุดลงเพราะโปแลนด์ละเมิดข้อตกลงลับทางทหาร ค.ศ. ๑๙๒๐ กับยูเครนด้วยการแยกตัวทำสนธิสัญญาสันติภาพกับสหภาพโซเวียต ปีลชุดสกีผู้นำโปแลนด์ซึ่งในช่วงที่มีการเจรจาตกลงหมดอำนาจทางการเมืองและเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมเจรจาสันติภาพด้วยประณามการลงนามในสนธิสัญญารีกาว่าเป็นพฤติกรรมของพวกขี้ขลาด และทำให้แผนการจัดตั้งพันธมิตรยุโรปตะวันออก (Eastern European Alliance) หรือที่เรียกกันว่า “Miedzymorze” ของเขาต้องล้มไป ชาวยูเครนก็เห็นว่าโปแลนด์เป็นฝ่ายทรยศหักหลังตนและในเวลาต่อมาเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายการปกครองของโปแลนด์จนกลายเป็นปัญหาการเมืองที่รุนแรงภายในโปแลนด์ในช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ และ ๑๙๔๐

 สนธิสัญญารีกา ค.ศ. ๑๙๒๑ ล้มเลิกลงเมื่อเยอรมนีกับสหภาพโซเวียตตกลงทำกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างนาซี-โซเวียตเป็นเวลา ๑๐ปี เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ เป็นการแบ่งเขตอิทธิพลระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียตในการครอบครองโปแลนด์ ยูเครน และเบโลรัสเซียรวมทั้งเอสโตเนีย (Estonia) ลัตเวีย และฟินแลนด์หนึ่งสัปดาห์หลังการทำกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่าง นาซี-โซเวียต เยอรมนีก็บุกโจมตีโปแลนด์เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ และนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ การบุกโปแลนด์ดังกล่าวมีผลให้สนธิสัญญารีกาสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงได้มีการกำหนดแนวพรมแดนทางตะวันออกขึ้นใหม่ระหว่างสหภาพโซเวียตกับโปแลนด์

 นอกจากสนธิสัญญารีกา ค.ศ. ๑๙๒๑ แล้วยังมีสนธิสัญญารีกา ค.ศ. ๑๙๒๐ (Treaty of Riga, 1920) ระหว่างสหภาพโซเวียตกับลัตเวียที่ลงนามเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ ที่กรุงรีกาด้วย สนธิสัญญารีกา ค.ศ. ๑๙๒๐ เป็นผลสืบเนื่องจากรัฐบาลเฉพาะกาลลัตเวียซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอังกฤษและฝรั่งเศสสามารถยึดอำนาจการปกครองคืนจากเยอรมนีและสหภาพโซเวียตได้จนทำให้รัฐบาลโซเวียตลัตเวียสิ้นสุดอำนาจลง เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ค.ศ. ๑๙๒๐ รัฐบาลเฉพาะกาลจึงดำเนินการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อปกครองประเทศและต่อมาได้ลงนามสนธิสัญญาสันติภาพกับเยอรมนี เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ และกับสหภาพโซเวียตในสนธิสัญญารีกา สาระสำคัญของสนธิสัญญารีกา ค.ศ. ๑๙๒๐ คือ สหภาพโซเวียตยอมล้มเลิกการปกครองและสิทธิต่าง ๆ ในลัตเวียซึ่งทำให้ลัตเวียได้เป็นประเทศเอกราช.



คำตั้ง
Riga, Treaty of; Peace of Riga
คำเทียบ
สนธิสัญญารีกา; สนธิสัญญาสันติภาพรีกา
คำสำคัญ
- กติกาสัญญาไม่รุกรานกัน
- กติกาสัญญาริบเบนทรอพ-โมโลตอฟ
- กองทัพแดง
- การแบ่งโปแลนด์
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- ความมหัศจรรย์แห่ง
- โซเวียตยูเครน
- ไซลีเซีย
- ดาบสกี, ยาน
- เดนีกิน, อันตอน อีวาโนวิช
- ตีโต
- แนวพรมแดนเคอร์เซิน
- บอลเชวิค
- เบลารุส
- เปตลูย์รา, ซีมอน
- ฝ่ายรัสเซียขาว
- พรมแดนเคอร์เซิน
- พรรคบอลเชวิค
- พันธมิตรยุโรปตะวันออก
- ยุทธการที่วอร์ซอ
- ยูเครน
- ยูเครนตะวันออก
- ลิทัวเนีย
- สงครามกลางเมืองรัสเซีย
- สงครามโปแลนด์-บอลเชวิค
- สงครามรัสเซีย-โปแลนด์
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญารีกา
- สนธิสัญญาสันติภาพรีกา
- สภาร่างรัฐธรรมนูญ
- สัญญาสงบศึก
- สันนิบาตชาติ
- อัปเปอร์ไซลีเซีย
- เอสโตเนีย
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1921; -
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ.๒๔๖๔; -
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-